จัดฟันด้วยเครื่องมือชนิดติดแน่น

รายละเอียด

จัดฟันด้วยเครื่องมือชนิดติดแน่น

การจัดฟัน (Orthodontics) เป็นสาขาหนึ่งในทางทันตกรรมที่ให้การวินิจฉัยป้องกัน และรักษาความผิดปกติของการเรียงฟันและการสบฟันรวมทั้งปัญหาความผิดปกติของขนาดและความสัมพันธ์ของขากรรไกรต่อใบหน้าการจัดฟัน เป็นการรักษาเพื่อให้มีการสบฟันที่ดีขึ้นเพื่อการบดเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งลดอัตราเสี่ยงใการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือกอันเนื่ืองมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือก ในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติ หลีกเลี่ยงการเกิด การสึกของฟันที่ผิดปกติจากการเรียงฟันหรือสบฟันที่ไม่เหมาะสมนอกจากนี้ยังอาจช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟัน เรียงกันสวยงาม


การสบฟันผิดปกติเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม

สาเหตุทางกรรมพันธุ์เกิดจากการถ่ายทอดลักษณะของฟัน, จำนวนซี่ฟัน, ขนาดและตำแหน่งของขากรรไกรจากพ่อแม่มายังลูกได้แก่ ฟันหาย, ฟันเกินความไม่สัมพันธ์กันกับขนาดของฟันและขนาดของขากรรไกร เช่น ฟันที่มีขนาดใหญ่ในขากรรไกรที่เล็ก จะทำให้เิกิดความซ้อนเกของฟัน หรือในทางกลับกัน ฟันที่เล็กแต่มีขากรรไกรใหญ่จะเกิดช่องว่าง ห่างระหว่างฟันได้ นอกจากนี้ความผิดปกติของการสบฟันที่เกิดจาก ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่นกัน


สาเหตุทางสิ่งแวดล้อม เช่น การมีนิสัยผิดปกติ เช่น ดูดนิ้ว หายใจทาง ปากการดุนฟันจากลิ้น การสูญเสียฟันและไม่ได้ทดแทน ทำให้ฟันข้างเคียงล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของการสบฟันได้

ลักษณะที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ ฟันซ้อนเก,ฟันยื่น,ฟันห่าง,ฟันสบลึก,ฟันสบเปิด,ฟันล่างครอมฟันบน


การจัดฟันนั้นสามารถทำได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการสบฟันจากทันตแพทย์ทั่วไป หรือ ทันตแพทย์ประจำและได้รับการส่งต่อมายังทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทางด้านทันตกรรมจัดฟันทันทีที่สังเกตุพบปัญหาการสบฟัน การจัดฟันส่วนใหญ่มักเริ่มทำในเด็กมีฟันแท้ขึ้นเกือบครบคือ อายุประมาณ 11-13 ปี อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการสบฟันบางอย่างสามารถทำในช่วงฟันผสม เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาหรือเพื่อป้องกันการไม่ให้เกิดการพัฒนาไปเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงขึ้น เช่น การจัดฟันหน้าบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อฟันในกรณีที่ฟันหน้าบนยื่นมากๆ การจัดฟันในชุดฟันผสมมักเป็นการรักษาฟันระยะสั้น และเป็นการจัดฟันบางส่วนเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะฟันแท้ ส่วนใหญ่จะจำเป็นต้องได้รับการจัดฟันทั้งปากต่อไป


เครื่องมือจัดฟันมี 2 ชนิดคือ แบบถอดได้และแบบติดแน่น

1.เครื่องมือแบบถอดได้มักมีลักษณะเป็นพลาสติกและมีลวดเพื่อยึดกับฟัน หรือใช้เคลื่อนฟัน โดยมากจะอยู่ในวงจำกัดเพื่อเคลื่อนฟันเล็กน้อยบางซี่ หรือใช้ช่วยส่งเสริมในการเจริญเติบโตของขากรรไกรตามทิศทางที่ต้องการ เครื่องมือถอดได้บางแบบ ใช้เพื่อคงตำแหน่งของฟันหลังจัดฟันจนกว่า เหงือกและฟัน จะปรับตัวเข้ากับตำแหน่งใหม่ เรียกว่าเครื่องมือคงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์ (Retainer)


2.เครื่องมือติดแน่นประกอบด้วยแบร็กเก็ต (ฺBracket) สำหรับฟันหน้า หรือท่อ(Tube) สำหรับฟันหลังติดบนผิวฟัน ในฟันหลังอาจใช้เป็นแบนด์(Band) ซึ่งมีท่อบัดกรีอยู่สวมบนฟันเพื่อมิให้ท่อหลุดจากผิวฟันได้ง่ายฟันที่อยู่ชิดกันจะต้องใช้ยางแยกฟันดันให้หลวมขึ้นเล็กน้อยก่อนใส่แบนด์


อาการเจ็บจากการจัดฟัน

อาการเจ็บฟันหลังจากปรับเครื่องมือจัดฟันใหม่ๆเกิดจากการที่หลอดเลือดถูกกดจากแรงที่ดันฟัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของขวบนการชีวภาพที่ทำให้ฟันเคลื่อนไปได้ อาการนี้จะบรรเทาลงใน 3-5 วัน ผู้ป่วยสามารถทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ นอกจากนี้การเคี้ยวอาหาร(ที่ไม่แข็งเหนียว ที่อาจทำให้เครื่องมือหลุด) ในช่วง 8 ชั่วโมงแรกหลังจากปรับเครื่องมือ จะเป็นขยับฟันบริเวณที่แรงกด และเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต รอบรากฟันจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

คุณอาจจะชอบ

  • จัดฟันด้วยเครื่องมือชนิดถอดได้
  • จัดฟันใสแบบถอดได้